วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ศูนย์เครือข่ายเพื่อการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


เอ็มเทคร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุกสู่แนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิด “ศูนย์เครือข่ายเพื่อการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หวังให้อุตสาหกรรมไทยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้ง “ศูนย์เครือข่ายเพื่อการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ให้คำปรึกษา บริการออกแบบ วิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เครือข่ายที่จัดตั้งขึ้นนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Excellent Center for Eco-Product (EXEP) ของเอ็มเทค ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวจะเป็นการรวบรวมความรู้ความสามารถจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างให้เกิดแหล่งรวมความรู้และความชำนาญเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยจะมีการขยายเครือข่ายออกไปให้เข้าถึงผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย
รศ.ดร. วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเอ็มเทคและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญเข้าด้วยกันเพื่อส่งเสริมให้เกิดผลงานที่ดีขึ้น หรือที่เรียกว่า Synergy โดยที่เอ็มเทคมีความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุ วิศวกรรมการออกแบบและผลิต ขณะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบ จึงเป็นความร่วมมือที่เกิดจากการรวมความสามารถในด้านที่แตกต่างกัน แต่จะช่วยเสริมซึ่งกันให้เกิดการพัฒนาด้านการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการสร้างพันธมิตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป โดยทางเอ็มเทคพร้อมให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคเพื่อสนับสนุนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด

Re-Leaf Studio


Re-Leaf Studio เกิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มี สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ (สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต) และ พาณุ งากุญชร (ศิลปบัณฑิต) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ตระหนักถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่คุกคามเมืองเชียงใหม่ที่พวกเขารัก และด้วยความที่เป็นนักออกแบบมือใหม่ และเป็นกลุ่มคนเล็กๆที่ทำงานเพื่อสิ่งที่เขารัก จึงเกิดแนวคิดด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ว่า “การออกแบบที่สอดคล้อง รองรับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนคือ หนทางแก้ไขปัญหาสำหรับอนาคต” จึงได้คิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม. (Green design) โดยมุ่งเน้นที่การผลิตกระดาษจากวัสดุธรรมชาติเราเชื่อว่าการออกแบบที่สอดคล้อง รองรับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนคือ หนทางแก้ไขปัญหาสำหรับอนาคต พยายามค้นคว้าและทำการวิจัยเพื่อจะออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากวัสดุธรรมชาติ วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ และวัสดุเหลือทิ้งอย่างคุ้มค่าให้ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากร